ภาพกิจกรรม
เข้าร่วมพิธีเปิดศูนย์การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน 2568

ข่าวประชาสัมพันธ์ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.)

วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน 2568 เวลา 10.00 น.

     สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย มอบหมายให้ ดร.ศรีพงศ์ บุตรงามดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาองค์กร สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เป็นผู้แทนเข้าร่วมพิธีเปิดศูนย์การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน 2568 ณ ห้องประชุม 1 ปภ. อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ฯ พร้อมด้วย

- นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

- นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย

- นายขจร ศรีชวโนทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย

- นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมการปกครอง

- นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

- นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

- ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 

- นายแพทย์ภานุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

- พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหาร ปภ. เข้าร่วมประชุมฯ และประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด มุ่งเน้นการบูรณาการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ภายใต้แนวคิด “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” รวมถึงเตรียมพร้อมอำนวยความสะดวกในการเดินทางเพื่อสร้างการสัญจรทางถนนที่ปลอดภัยให้กับประชาชน       นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานกรรมการ/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้กล่าวว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีนโยบายในการป้องกัน ลดความสูญเสีย และลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนนที่ครอบคลุมทั้งด้านการป้องกัน การบังคับใช้กฎหมาย การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างจิตสำนึกการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยให้แก่ประชาชน ซึ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ใกล้จะถึงนี้ รัฐบาลมีความห่วงใยความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน เนื่องจากจะมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ประกอบกับประชาชนมีการเล่นน้ำสงกรานต์บริเวณเส้นทางสายต่าง ๆ ซึ่งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าช่วงปกติ จึงได้มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย บูรณาการทุกหน่วยงานในรูปแบบของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการ อำนวยการ ติดตาม และสนับสนุนการปฏิบัติงานให้แก่ส่วนกลางและระดับพื้นที่ ภายใต้แนวคิด “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ ให้สอดคล้องกับช่วงวันหยุดยาวในสงกรานต์นี้ ซึ่งได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมความพร้อมบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ให้เป็นไปตามแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาล และช่วงวันหยุด พ.ศ. 2568 ซึ่งได้กำหนดมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ไว้ 5 ด้าน ประกอบด้วย       1) ด้านการบริหารจัดการ โดยส่วนกลางได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ขึ้นที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่วนภูมิภาคให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนและทำแผนปฏิบัติการในพื้นที่ รวมถึงประสานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมกับฝ่ายปกครอง ดำเนินการป้องปรามและแจ้งเตือนผู้ขับขี่บุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ในชุมชน       2) ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการแนวทางการแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุในบริเวณทางร่วม ทางแยก รวมถึงปรับปรุง ซ่อมแซมถนนให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ เพื่อให้ถนน มีความปลอดภัย       3) ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ ให้มีการกำกับควบคุมดูแลรถโดยสารสาธารณะ พนักงานขับรถ พนักงานประจำรถให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด       4) ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง ต่อเนื่อง พร้อมให้ความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนนในชุมชน หมู่บ้าน ผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ ในพื้นที่ รวมถึงใช้กลไกฝ่ายปกครองและ อสม. เข้าถึงชุมชนในรูปแบบ “เคาะประตูบ้าน”        5) ด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ โดยเตรียมความพร้อมโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล และหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน รวมถึงระบบการให้ความช่วยเหลือและเยียวยา เพื่อให้ผู้ประสบอุบัติเหตุได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว